Go to Top

โรคตาขี้เกียจ

− โรคตาขี้เกียจ

โรคตาขี้เกียจ

หลายคนคงสงสัยเกี่ยวกับชื่อโรคนี้ ดวงตาก็ขี้เกียจได้ด้วยหรือ แล้วตอนนี้เราเป็นอยู่หรือเปล่า ลองมาดูกันว่าคุณมีอาการแบบนี้หรือเปล่า

ตาขี้เกียจเป็นโรคทางตาชนิดหนึ่ง ที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ อาการของโรคไม่รุนแรงนักแต่ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษาอาจทำให้ตาบอดหรือมีปัญหาทางสายตาอย่างถาวรได้

Lazy eye

ภาวะตาขี้เกียจ (Lazy Eye)

หรือภาษาทางการแพทย์เรียกว่า Amblyopia หมายถึง ภาวะที่สายตาข้างใดข้างหนึ่งมัวลง หรือคุณภาพการมองเห็นของสายตาไม่เท่ากันทั้งสองข้างเทียบเท่ากับคนปกติ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการพัฒนาของสายตาด้านนั้น ๆ ถูกขัดขวางหรือหยุดไป จากภาวะต่าง ๆ ดังนี้

  1. ตาเข ตาเหล่ ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ตาข้างที่ดี เพียงข้างเดียวในการมอง ทำให้ตาข้างที่เขไม่ทำงาน ส่งผลให้เกิดภาวะตาขี้เกียจในที่สุด
  2. สายตาผิดปกติ สั้น ยาว และเอียง ภาวะนี้แสงจะไม่สามารถโฟกัสมาที่จอประสาทตาได้ ทำให้สายตามองชัดไม่เท่ากัน หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะเกิดภาวะตาขี้เกียจในที่สุด
  3. โรคทางตาบางชนิด เช่น ต้อกระจก หนังตาตก โรคทางตาเป็นแผล ตั้งแต่กำเนิด อาจจะเป็นข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้ ทำให้การพัฒนาของสายตาไม่เป็นไปตามขั้นตอนปกติก็จะเกิดภาวะตาขี้เกียจขึ้น

Lazy eye

การรักษา

การรักษาต้องเริ่มด้วยการแก้ไขที่ต้นเหตุตามด้วยการกระตุ้นตาขี้เกียจให้กลับมาทำงานตามปกติ ด้วยวิธีการปิดตาข้างที่ดีเอาไว้เพื่อให้ตาข้างที่ขี้เกียจทำงานบ้าง โดยต้องแก้ไขอาการผิดปกติทางสายตาร่วมไปด้วย

หากพบในเด็กควรรีบรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการ เพราะถ้าปล่อยไว้แล้วมารักษาตอนโตมักไม่ได้ผล เนื่องจากโรคตาขี้เกียจ จะไม่มีอาการบ่งบอกชัดเจน เช่น เจ็บปวดหรือตาแดง ซึ่งเด็กอาจไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคตาขี้เกียจ ทำให้การพัฒนาทางสายตาด้อยกว่าคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจึงไม่ควรละเลยขั้นตอนการตรวจตาเด็ก เพราะเด็กเล็กๆ จะไม่สามารถบอกหรือรับรู้ได้ว่าตนเองมองไม่ค่อยเห็น จึงแนะนำให้ผู้ปกครองพาเด็กมารับการตรวจเป็นระยะ คือ ตั้งแต่แรกคลอด อายุ 6 เดือน อายุ 3 ปี หลังจากนั้นก็ให้ตรวจตาทุกปีหรืออย่างน้อยปีเว้นปีทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

นอกจากนี้ มีการรักษาสำหรับผู้ที่มีสายตาผิดปกติเนื่องมาจากโรคตาขี้เกียจ เช่นสายตาสั้นมาก โดยวิธีการสวมแว่นสายตาหรือการทำเลสิก  และวิธีการผ่าตัดกล้ามเนื้อตา สำหรับผู้ที่มีตาเขร่วมด้วย  แต่อย่างไรก็ตามจักษุแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยอย่างละเอียด และเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด