โรควุ้นในตาเสื่อม (Eye Floaters)
น้ำวุ้นลูกตา เป็นสารใสคล้ายเจลอยู่ภายในลูกตาส่วนหลัง ทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้แสงผ่าน ให้สารอาหารแก่จอประสาทตาและเซลล์ผนังลูกตาชั้นใน และช่วยพยุงลูกตาให้คงรูปเป็นทรงกลม
การเสื่อมของวุ้นตา เนื่องจากวุ้นตาเปลี่ยนสภาพจากที่เคยเหลว เหนียว เป็นเนื้อเดียวกันคล้ายวุ้น แต่เมื่ออายุมากขึ้น หรือภาวะสายตาสั้นมาก อาจเกิดการเสื่อมของวุ้นตา ทำให้เกิดการแยกตัว มีส่วนที่เป็นน้ำอยู่รวมกันเป็นโพรงในวุ้นตา ทำให้แสงที่ผ่านวุ้นตา ที่บางส่วนเหลว และบางส่วนหนาตัวขึ้น เห็นเป็นเงาตะกอนวุ้นตากองอยู่บนจอตา
อาการ
ผู้ป่วยจะสังเกตเห็นเงาดำหรือเห็นเป็นเส้นดำ เหมือนหยากไย่ลอยไปมา จะรู้สึกและสังเกตได้ง่ายขึ้นเวลามองไปยังพื้นผิวที่เรียบและเป็นสีอ่อน เช่น ผนังห้อง กระดาษสีขาว หรือท้องฟ้า ลักษณะอาการแบบนี้เราเรียกว่า Floater
สาเหตุของโรควุ้นในตาเสื่อม
ส่วนใหญ่โรควุ้นในตาเสื่อมนั้นพบมากในผู้ป่วยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป การเสื่อมมักจะเกิดเร็วขึ้นในผู้ที่มีสายตาสั้น ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุทางตา ผู้ที่เคยมีการอักเสบภายในลูกตา หรือเคยได้รับการผ่าตัดในลูกตา
วิธีการชะลอความเสื่อมของวุ้นตา
ผู้มีวุ้นตาเสื่อมประเภทไม่เป็นอันตราย ภาวะวุ้นตาเสื่อมนี้ไม่จำเป็นต้องทำการรักษา ผู้ป่วยจะยังคงมองเห็นจุดดำลอยไปมาแต่ไม่ทำให้เกิดอันตรายใดๆ ส่วนแสงแฟลชจะค่อยๆลดลงและหายไปในที่สุด ในช่วงที่มีอาการควรงดการออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดการกระเทือน ผู้ป่วยสามารถใช้สายตาและทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
แต่ควรสังเกตตัวเอง หากมีภาวะดังต่อไปนี้ ควรรีบพบจักษุแพทย์ เพราะมักเกิดจากสาเหตุที่ทำให้เกิดวุ้นตาเสื่อมประเภทอันตราย
- จุดลอยดังกล่าวมีจุดใหม่ลอยมากขึ้น
- มีแสงระยับคล้ายแสงแฟลช (Flash)
- สายตามัวลง
- มีอาการคล้ายมีม่านบังดวงตาเป็นแถบ ๆ
ในรายที่เกิดวุ้นตาเสื่อมประเภทอันตราย ตรวจพบรอยฉีกขาดที่จอตา แพทย์จะทำการรักษาด้วยเลเซอร์เพื่อปิดรอยฉีกขาดนั้น
ผู้มีวุ้นตาเสื่อมประเภทมีอันตราย ควรปฏิบัติตามจักษุแพทย์ และพยาบาลจักษุแนะนำอย่างเคร่งครัด รวมทั้งต้องดูแลรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุให้ได้ เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น