โรคต้อหิน (glaucoma)
ต้อหินเป็นกลุ่มโรคต้อ ที่พบได้บ่อยๆ คือ ต้อกระจก ต้อเนื้อ ต้อลม และต้อหิน แต่ ต้อหิน เป็นต้อเพียง ชนิดเดียวที่ไม่มีตัวต้อให้เห็น เพราะ ต้อหิน เป็นกลุ่มโรคที่มีการทำลายขั้วประสาทตา ซึ่งเป็นตัวนำส่งผลการ มองเห็นไปสู่สมอง ซึ่งเมื่อขั้วประสาทตาถูกทำลายจะมีผลทำให้การมองเห็นแคบลง และเมื่อเป็นมากๆ ก็สูญเสีย การมองเห็นในที่สุด ซึ่งเป็นการสูญเสียชนิดถาวร ไม่สามารถรักษาให้กลับคืนมามองเห็นได้อีก
ผู้ป่วยที่เป็นโรคต้อหินทุกคนมักจะมีความดันในลูกตาสูงมาก เมื่อทิ้งไว้นาน จะทำให้มีการ เปลี่ยนแปลงของกระจกตา จากใสกลายเป็นสีขาวขุ่น จนกลายเป็นสีเทาปนฟ้า คล้ายกับเม็ดหิน marble และ ความดันในลูกตาที่สูงมาก ทำให้ตาข้างนั้นแข็งเหมือนหิน และขาวขุ่นด้วย
อาการของ ต้อหิน
อาการของโรคต้อหิน มีทั้งมีอาการ และ ไม่มีอาการ ส่วนใหญ่เป็นชนิดไม่มีอาการ เรียกว่า
“ต้อหินเรื้อรัง (Chronic glaucoma)” การดำเนินของโรคจากเริ่มเป็น จนถึงการสูญเสียการมองเห็น ขบวนการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นอย่างช้าๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้อหินที่เกิดจากความเสื่อม ซึ่งไม่มีอาการใดๆ จนกระทั่งสูญเสียการมองเห็น ซึ่งใช้เวลา 5 - 10 ปี จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับว่าจะตรวจพบต้อหินระยะใด เช่น พบตั้งแต่ระยะเพิ่งเริ่มเป็น จะสามารถคุมไว้ได้ และอาจจะไม่สูญเสียการมองเห็น แต่ถ้าตรวจพบต้อหินระยะที่เป็นมากแล้วหรือ ระยะท้ายๆ ก็อาจสูญเสียการมองเห็นได้ในเวลาอันรวดเร็วเช่นภายในเวลาเป็นเดือน ก็จะตาบอดได้
สำหรับต้อหินชนิดที่มีอาการ เรียกว่า “โรคต้อหินเฉียบพลัน (Acute glaucoma)” เพราะทำให้ผู้ป่วย ทั้ง ตาแดง ปวดตา และตาบอดในเวลาอันสั้น ทุกอย่างเป็นไปอย่างฉับพลัน โรคต้อหินเรื้อรังว่าร้ายแรงแล้วยังถือ ว่าน้อยกว่ามาก
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต้อหิน
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่เกิดโรคต้อหิน เช่น ผู้ที่มีอายุมากจะมีโอกาสเป็น ต้อหิน มากกว่าคนที่มีอายุน้อย ต้อ หิน บางชนิดเกิดในเด็กแรกเกิด หรือกลุ่มเด็กเล็กได้เช่นกัน แต่พบไม่บ่อยเท่าผู้สูงอายุ พบมากกับผู้สูงอายุที่มี อายุเกิน 40 ปีขึ้นไป , ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และความผิดปกติทางเลือดและเส้น เลือด , ผู้ที่มีประวัติสมาชิกภายในครอบครัว หรือบรรพบุรุษเป็นต้อหินก็จะมีโอกาสเป็น ต้อหิน มากขึ้น และควร ได้รับการตรวจเป็นระยะๆ , ผู้ที่มีสายตาสั้นหรือยาวมากๆ จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรค ต้อหิน , ผู้ที่มีความดันในลูกตาสูงจะมีโอกาสเกิดโรค ต้อหิน ได้มาก , ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน , การได้รับอุบัติเหตุที่ลูกตามาก่อน และโรคตาบางชนิด
การรักษาต้อหิน
การรักษาต้อหินนั้นมุ่งหมายเพื่อรักษาการมองเห็นของผู้ป่วยไว้ ชะลอและยับยั้งไม่ให้เกิดการสูญเสียเซลส์ประสาทตามากขึ้น โดยการลดความดันในลูกตา ซึ่งเป็นเพียงปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียวที่สามารถควบคุมได้ การรักษาต้อหินนั้นมีด้วยกัน 3 วิธี คือ การใช้ยา เลเซอร์ และผ่าตัด โดยทั่วไปนั้นจะรักษาเพื่อควบคุมความดันตาด้วยยา และ เลเซอร์ให้ได้ก่อน แต่การใช้ยาและเลเซอร์เพียงแค่ 2 อย่างไม่สามารถลดความดันตาให้อยู่ในระดับที่ต้องการได้ จึงต้องมีการผ่าตัดร่วมด้วย
สิ่งสำคัญคือ การตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะสามารถรักษาโรคต้อหินได้ดีที่สุด และรักษาการมองเห็นไว้กับเราได้นานยิ่งขึ้น การตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อสุขภาพตาที่อยู่คู่กับเราไปตลอดชีวิต